ประวัติความเป็นมาการจัดตั้งกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร

          ก่อนที่พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.๒๕๖๒ มีผลบังคับใช้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาควบคุมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีจุดมุ่งหมายการใช้เป็นยาได้แก่ ยาจากสมุนไพร ยาแผนไทย หรือ ยาแผนโบราณอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีจุดมุ่งหมายการใช้เป็นอาหารได้แก่ อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีจุดมุ่งหมายการใช้เป็นเครื่องสำอางอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง เป็นต้น โดยการดำเนินงานอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักหรือกองที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักยา สำนักอาหาร และสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายตามลำดับ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาปรากฏว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรจำนวนมากประสบปัญหาในการอนุมัติอนุญาตอันเนื่องมาจากกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะนั้นไม่เหมาะสมกับการควบคุมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสมุนไพรส่วนใหญ่ไม่สามารถกล่าวอ้างสรรพคุณด้านส่งเสริมสุขภาพหรือลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสมุนไพรไม่สามารถแสดงคุณประโยชน์นอกเหนือจากเพื่อความสะอาดและความสวยงาม ผลิตภัณฑ์ยาพัฒนาจากสมุนไพรและยาแผนโบราณที่มีการประยุกต์และพัฒนาต่อยอดไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะขึ้นทะเบียนได้ภายใต้กฎระเบียบเดิมที่ใช้กรอบการพิจารณาแบบยาแผนปัจจุบันรวมทั้งยาพื้นบ้านจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ทำให้เกิดการลักลอบโฆษณาและส่งเสริมการขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์และระบบขายตรงที่มีการโอ้อวดสรรพคุณและคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

           เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่กล่าวมาข้างต้น ยุทธศาสตร์ที่ ๔ ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔ ได้กำหนดให้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งเป็นกฎหมายสำหรับการควบคุมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพรขึ้นมาเป็นการเฉพาะ มีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดกรอบแนวคิด หลักเกณฑ์การประเมินเพื่อการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ให้สมดุลระหว่างการส่งเสริมพัฒนา ต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์สมุนไพร การตอบสนองความต้องการด้านการเลือกใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชน และการคุ้มครองความปลอดภัยและคุ้มค่าจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพร นอกจากนั้น ยุทธศาสตร์ที่ ๔ ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยฯ ได้กำหนดถึงความจำเป็นในการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อรับผิดชอบด้านการควบคุมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้จัดตั้ง “กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร” เป็นหน่วยงานใหม่เพิ่มขึ้นเป็นการภายในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตามคำสั่งที่ ๕๕๐/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ เป็นต้นไป เพื่อบูรณาการการควบคุมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งแต่เดิมอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักหรือกองที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักยา สำนักอาหาร และสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ให้มาอยู่ที่หน่วยงานเดียว และเตรียมความพร้อมรองรับพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่จะมีผลบังคับใช้ต่อไป

           พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.๒๕๖๒ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ มีผลบังคับใช้วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้รับอนุมัติให้ปรับโครงสร้างใหม่โดยมีการตั้งกองผลิตภัณฑ์สมุนไพรขึ้นอย่างเป็นทางการตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๓ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๓